คอลัมน์ : กุญแจหลักกฎหมาย
เรื่อง กรณีมิใช่พยานหลักฐานในทางอาญา
การพิจารณาและพิพากษาของศาลในคดีอาญานั้น กรณีเป็นปัญหาข้อเท็จจริงจะต้องอาศัย “พยานหลักฐาน” ที่ผ่านกระบวนการนำสืบเข้ามาในสำนวนคดีโดยถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น เว้นแต่เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่กฎหมายระบุให้ศาลต้องรับฟังเป็นที่ยุติตามนั้นโดยไม่ต้องอาศัยพยานหลักฐานได้ (ป.วิ.พ. มาตรา 84 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15) อย่างไรก็ดี หากสิ่งใดไม่เข้าลักษณะที่กฎหมายถือว่าเป็นพยานหลักฐาน สิ่งเหล่านั้นก็ไม่อาจรับนำมารับฟังเพื่อพิสูจน์ความผิด หรือความบริสุทธิ์ของผู้กระทำผิดได้เลยและเมื่อมิใช่พยานหลักฐานจึงมีผลทำให้ไม่จำต้องระบุไว้ในบัญชีระบุพยานและไม่ต้องส่งสำเนาให้คู่ความอีกฝ่ายทราบล่วงหน้าเช่นกัน โดยผู้เขียนได้สรุปข้อพิจารณาและคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจเกี่ยวกับกรณีมิใช่พยานหลักฐานไว้ดังนี้ (1) ข้อพิจารณา - กรณีต่อไปมิใช่พยานหลักฐานในทางอาญา 1.1 ความรู้ ความเข้าใจ หรือความเห็น ของผู้พิพากษาที่ตัดสินคดี 1.2 คำร้อง คำขอ คำแถลงต่างๆ ที่คู่ความยื่นมาในระหว่างพิจารณาคดี 1.3 เอกสารที่คู่ความยื่นต่อศาลเพื่อประกอบการแถลงรับข้อเท็จจริงตามเอกสาร 1.4 คำแปลภาษาต่างประเทศของตัวเอกสารภาษาต่างประเทศที่เป็นพยานเอกสาร 1.5 รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยของพนักงานคุมประพฤติ **ศาลอาจนำมารับฟังประกอบดุลพินิจในการพิจารณากำหนดโทษและวิธีการต่างๆ ในดำเนินการแก่จำเลยเท่านั้น 1.6 คำรับสารภาพของจำเลย **แต่หากเป็นคดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น มิใช่กรณีที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่า อาจมีผลฟังเป็นที่ยุติและศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาโดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ 1.7 สำนวนการสอบสวนทั้งสำนวน หรือบางส่วนที่ศาลใช้อำนาจเรียกพนักงานอัยการ เนื่องจากนำมาใช้พิจารณาเพื่อประกอบการวินิจฉัยการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเท่านั้น (2) คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ ฎ. 3469/2553 แม้ตาม พ.ร.บ.วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 13 ศาลมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมประพฤติตามมาตรา 11 โดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบก็ตาม แต่ต้องเป็นการรับฟังเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลย มิใช่รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อนำมาวินิจฉัยความผิดของจำเลยตามฟ้อง ศาลจึงนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติดังกล่าวมาเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์ไม่ได้ ฎ. 1275-1278/2545 เอกสารที่จำเลยยื่นส่งต่อศาลแรงงานกลางเพื่อประกอบการแถลงรับข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวของคู่ความและศาลแรงงานกลางได้บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณานั้นมิใช่เอกสารที่จำเลยอ้างประกอบการสืบพยานของจำเลยแต่อย่างใดจึงไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่โจทก์ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 90 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 31 ทั้งการแถลงรับข้อเท็จจริงของคู่ความดังกล่าวก็เป็นกรณีที่ทำให้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเอกสารรับฟังเป็นยุติโดยไม่จำต้องนำพยานบุคคลมาสืบเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงอีก เมื่อไม่มีการสืบพยานก็ย่อมไม่มีการสาบานตนของพยานตลอดถึงการซักถามพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 112 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 31,45 วรรคสอง ฎ. 3698/2545 คำแปลเอกสารที่เป็นภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยไม่ถือว่าเป็นเอกสารที่คู่ความอ้างส่งในคดี จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการอ้างเอกสารเป็นพยาน และถือเป็นหน้าที่ของคู่ความทั้งสองฝ่ายที่จะต้องร่วมกันสื่อความหมายของข้อความนั้นให้ศาลได้เข้าใจได้ตรงหรือใกล้เคียงกับความหมายที่แท้จริงของข้อความภาษาต่างประเทศนั้นให้มากที่สุด ดังนั้นหากคำแปลเป็นภาษาไทยไม่ถูกต้อง คู่ความทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมขอแก้ไขเมื่อใดก็ได้ก่อนศาลมีคำพิพากษา ฎ. 2484/2520 ในคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลยโดยนำพยานเข้าสืบเสร็จแล้วให้จำเลยนำพยานเข้าสืบตามข้อต่อสู้ต่อไปต่อจากนั้นศาลจึงจะวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวน พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องจำเลยกล่าวหาว่าฉุดคร่าผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปเสียจากความปกครองดูแลของผ.ซึ่งเป็นผู้ปกครองโดยผู้เสียหายไม่เต็มใจไปด้วยจำเลยให้การปฏิเสธในวันนัดสืบพยานโจทก์ศาลได้เรียกผู้เสียหายมาสอบถามผู้เสียหายแถลงว่าตนเองเต็มใจไปกับจำเลยเพื่ออยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้มีการฉุดคร่าแต่อย่างใดโจทก์แถลงขอสืบพยาน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ดังนี้คดียังไม่มีการสืบพยานคำแถลงของผู้เสียหายไม่ใช่คำพยานที่ได้มาจากการนำสืบและโจทก์หาได้ยอมรับไม่ เพราะโจทก์ยังติดใจสืบพยานอื่นอยู่อีกการที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา Rymani R.
|