คอลัมน์ : กุญแจหลักกฎหมาย
เรื่อง หลักการเพิกถอนการฉ้อฉล#ตอนที่ 1 เพื่อควบคุมกองทรัพย์สินของลูกหนี้และเป็นหลักประกันแห่งหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อีกชั้นหนึ่ง กฎหมายจึงได้กำหนดมาตรการพิเศษไว้คุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ให้ได้รับชำระหนี้สมดังสิทธิที่เจ้าหนี้มีใน ป.พ.พ. บรรพ 2 เช่น การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้, การเพิกถอนการฉ้อฉล, สิทธิยึดหน่วง เป็นต้น โดยบทความนี้ ผู้เขียนจะพิจารณาศึกษาประเด็นหลักกฎหมายและคำพิพากษาของศาลที่น่าสนใจเกี่ยวกับหลักการเพิกถอนการฉ้อฉล (1) กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 (2) ข้อพิจารณา - เจ้าหนี้จะมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมได้ต้องเข้าเงื่อนไขและมีหลักเกณฑ์การเพิกถอนการฉ้อฉล ดังนี้ 2.1 ต้องเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้กันมาก่อน หรือขณะที่จะมีการทำนิติกรรมฉ้อฉล - อาจเป็นเจ้าหนี้ในมูลสัญญา หรือมูลละเมิด หรือมูลหนี้อื่นก็ได้ และไม่คำนึงว่าจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ เพียงแต่ต้องเป็นเจ้าหนี้ที่สามารถใช้สิทธิทางศาลได้ - ผู้ทำนิติกรรมฉ้อฉลต้องเป็น “ลูกหนี้ของเจ้าหนี้” ที่ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรม เพราะการเพิกถอนการฉ้อฉลเป็นผลแห่งหนี้ จึงต้องมีอำนาจแห่งมูลหนี้ตามมาตรา 194 เสียก่อน - ผู้ขอเพิกถอนต้องไม่ใช่ผู้ทำนิติกรรมฉ้อฉลเสียเอง ** ระวัง การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลนั้นเป็นอำนาจของเจ้าหนี้ แต่การกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิในทรัพย์ในลักษณะของทรัพยสิทธิ เช่น การใช้สิทธิติดตามตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สิน (มาตรา 1336), การได้ภาระจำยอมโดยอายุความ (มาตรา 1382) เหล่านี้ ไม่ใช่การใช้สิทธิทางหนี้ แต่เป็นการใช้ทรัพยสิทธิซึ่งมีผลให้กรณีดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับอายุความเพิกถอนการฉ้อฉล 2.2 ลูกหนี้ไปทำนิติกรรมที่มีวัตถุเป็นทรัพย์สิน หรือสิทธิในทรัพย์สิน - ลูกหนี้ไปทำนิติกรรม หรือทำให้ทรัพย์สินซึ่งลูกหนี้เป็นเจ้าของนั้นเกิดภาระติดพันภายหลังก่อหนี้กับเจ้าหนี้แล้ว เช่น การจำหน่ายทรัพย์สิน, การเอาทรัพย์สินตีใช้หนี้, กู้ยืม, ค้ำประกัน, จำนอง, จำนำ, การปลดหนี้, โอนสิทธิเรียกร้อง, จดทะเบียนการเช่า, นำทรัพย์สินที่จำนองออกให้เช่า ** ระวัง (1) นิติกรรมที่เกี่ยวกับสถานะของบุคคล เช่น การสมรส, จดทะเบียนหย่า, การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม เหล่านี้ มิใช่นิติกรรมมีวัตถุเป็นทรัพย์สิน ดังนั้น จึงไม่อาจขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ (2) การที่ลูกหนี้ไปโอนทรัพย์ หรือแกล้งให้ตนเองเป็นหนี้อันเป็นการฉ้อฉล อาจเป็นความผิดทางอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ได้ (3) กรณีลูกหนี้กระทำการ “ย้าย/ ซ่อน/ ทำลาย” ทรัพย์สิน เช่นนี้ มิใช่การทำนิติกรรมฉ้อฉลที่จะถูกเพิกถอนได้ 2.3 การทำนิติกรรมเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ - นิติกรรมที่ลูกหนี้ทำขึ้นทำให้เจ้าหนี้ไม่ได้รับชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจงตามสิทธิที่มีอยู่ในมูลหนี้ โดยที่เจ้าหนี้ไม่ได้ยินยอม (ทรัพย์สินที่เหลืออยู่ของลูกหนี้ไม่พอจะชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้/เสื่อมค่าเกิดภาระแก่กองทรัพย์สิน/ขายแล้วได้ราคาต่ำลง) และลูกหนี้ต้องรู้ว่าเป็นการทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบในขณะทำนิติกรรม ** ระวัง กรณีวัตถุแห่งหนี้เป็น “ทรัพย์เฉพาะสิ่ง” และลูกหนี้ได้โอน หรือก่อให้เกิดภาระติดพันในทรัพย์นั้น แม้เจ้าหนี้จะมีทรัพย์สินอื่นเพียงพอแก่การชำระหนี้ ก็ถือว่าทำให้เจ้าเสียเปรียบได้เช่นกัน (ไม่ต้องดูฐานะของลูกหนี้เลย) - กรณีไม่ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เช่น ลูกหนี้นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้บุริมสิทธิ (ผู้รับจำนอง) ก่อน, ลูกหนี้ได้ตกลงโอนการครอบครองที่ดิน น.ส. 3 ให้บุคคลภายนอกก่อนแล้วที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้อง (แม้จะมีการจดทะเบียนโอนกันภายหลัง), ลูกหนี้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลให้คู่กรณีมีสิทธิอาศัยก่อนที่หนี้ค่าภาษีอากรของลูกหนี้จะค้างชำระเจ้าหนี้ (แม้จะจดทะเบียนสิทธิอาศัยภายหลังที่เจ้าหนี้ได้ยึดห้องชุดพิพาทนั้นไป), จดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินที่เจ้าหนี้ทำสัญญาจะซื้อขายกับลูกหนี้ เพราะที่ดินนั้นเป็นทางภาระจำยอมที่มีมาแต่เดิม (ลูกหนี้ต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันที่มีอยู่แล้ว) 2.4 บุคคลผู้ได้ลาภงอกจากการทำนิติกรรมกับลูกหนี้ - “ผู้ได้ลาภงอก” คือ ผู้ที่ทำนิติกรรมกับลูกหนี้โดยตรงและทายาทของบุคคลดังกล่าว (1) รู้อยู่ว่าการได้ทรัพย์สินมาโดยมีค่าตอบแทนนั้นทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ (เสียค่าตอบแทนแต่ไม่สุจริต) หรือ (2) ได้รับทรัพย์สินโดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน (ไม่จำต้องวินิจฉัยเลยว่า ผู้ได้ลาภงอกจะทราบหรือไม่ว่าการทำนิติกรรมดังกล่าวเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ) - กรณีไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า “บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต” (มาตรา 6) (3) ข้อสังเกต - กรณีเจ้าหนี้ไม่อาจใช้สิทธิเพิกถอนการฉ้อฉลได้ เช่นนี้ ต้องไปบังคับตามหลักการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัย (มาตรา 218, 219) และ/หรือ การช่วงทรัพย์ในเงินค่าราคาที่ลูกหนี้ได้รับมา (มาตรา 226, 228) (4) คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ ฎ. 1814/2556 โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นการเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิแก่ตนได้อยู่ก่อน ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ขณะทำนิติกรรมขายฝากจำเลยที่ 2 รู้ข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้จะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และได้ครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนอันเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ แม้จำเลยที่ 1 จะเสียค่าตอบแทนก็เป็นการร่วมกันฉ้อฉล โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่ถือเป็นการนอกฟ้อง เกินกว่าคำขอดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา เนื่องจากคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเพิกถอนการฉ้อฉลไว้ครบถ้วน เพียงแต่ปรับบทกฎหมายแตกต่างไปเป็นเรื่องเพิกถอนการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนของตนได้อยู่ก่อน ซึ่งเป็นอำนาจศาลที่จะปรับบทให้ตรงกับคำบรรยายฟ้องและข้อเท็จจริงที่ยังได้จากการพิจารณาคดี ฎ. 6239/2555 แม้การที่จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ยึดถือโฉนดที่ดินพิพาทไว้จะไม่มีผลบังคับในทางจำนอง แต่ก็แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ว่าจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ยึดโฉนดที่ดินดังกล่าวเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระโจทก์สามารถบังคับคดีเอากับที่ดินแปลงดังกล่าวได้และเพื่อไม่ให้จำเลยที่ 1 ไปทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาทนั่นเอง การที่จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินจนเจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าว แล้วจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ไป จำเลยที่ 1 ย่อมรู้ดีว่าทำให้โจทก์ไม่อาจที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินพิพาท ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอื่นพอจะชำระหนี้ได้ และจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับว่าไม่ได้ประกอบอาชีพและไม่มีรายได้ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้งรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ ฎ. 3975/2553 การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เพราะทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมเป็นหลักประกันในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 214 ดังนั้น เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลจึงหมายถึงเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงไม่พอชำระหนี้อันเนื่องมาจากการทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้ ไม่ว่าเจ้าหนี้ดังกล่าวจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม แม้เจ้าหนี้ในหนี้ที่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้ก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้ เมื่อโจทก์แจ้งความดำเนินคดีอาญาและฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมทราบว่าตกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา และไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับคดีได้อีกนอกจากที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ย่อมรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการฉ้อฉลนั้นเสียได้ ฎ. 1971/2551 จำเลยที่ 1 มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. จึงเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนและมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาททุกคนเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิและอำนาจที่จะนำที่ดินพิพาทส่วนที่ตกได้แก่โจทก์ตามที่ตกลงกันไว้ไปขายให้แก่ผู้ใดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ฉะนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะรับซื้อที่ดินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้วก็ไม่ได้สิทธิเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ การที่โจทก์มาฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์คืน จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความเรียกคืน ไม่ใช่เรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237 จึงนำอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 240 มาใช้บังคับไม่ได้ Rymani R.
|